จตุพร จีนโก้

จตุพร จีนโก้

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

[Google I/O] กูเกิลยกเครื่องแพลตฟอร์มโฆษณามือถือ AdMob ใหม่หมด



AdMob
ที่งาน Google I/O กูเกิลประกาศยกเครื่องแพลตฟอร์มโฆษณาบนมือถือ AdMob (ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2010) ใหม่หมด เพื่อให้ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มโฆษณาของกูเกิลได้ดีขึ้น
การปรับปรุง AdMob ครั้งใหญ่ยังเพิ่มฟีเจอร์เข้ามาอีกหลายอย่าง เช่น Conversion Optimizer ช่วยโปรโมทแอพผ่านโฆษณาได้ละเอียดแม่นยำกว่าเดิม, ควบคุมหมวดเนื้อหาการแสดงโฆษณาได้ละเอียดขึ้น, แสดงตัวเลขและจ่ายเงินด้วยสกุลท้องถิ่นมากขึ้น, ปรับอินเทอร์เฟซหน้ารายงานผลการโฆษณาให้ใช้ง่ายและมีข้อมูลเยอะกว่าเดิม เป็นต้น
ผมเข้าใจว่าแถวนี้มีนักพัฒนาแอพที่หารายได้ด้วย AdMob อยู่บ้างพอสมควร ถ้าใครมีประสบการณ์ก็มาแชร์ข้อมูลกันได้ครับ
ที่มา – Google Mobile Ads Blog

BBM จะไม่สามารถใช้งานได้บนแท็บเล็ต ทั้ง iPad และ Android



BBM
หลังจากที่มีข่าวว่า BlackBerry จะส่ง BBM ลง Android และ iOS ไปเมื่อไม่นานมานี้นั้น มีข่าวออกมาล่าสุดว่า ดูเหมือน BBM จะรองรับแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้นครับ โดยความต้องการคร่าวๆ ที่ระบุอยู่บนหน้าเว็บไซต์ก็คือ ฝั่ง iOS ต้องเป็น iPhone ที่รัน iOS 6 ขึ้นไป (ไม่ระบุรุ่นเหมือน Google+ Hangouts) ส่วน Android ยังไม่ทราบข้อมูลครับ
ทั้งนี้ Vivek Bhardwaj หัวหน้าทีมซอฟต์แวร์ของ BlackBerry ได้เปิดเผยว่า ตลาดสมาร์ทโฟนเป็นตลาดหลักที่ BlackBerry ตั้งใจจะทำให้ BBM กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ถ้าดูจากพฤติกรรม ผู้คนส่วนใหญ่มักอยู่กับสมาร์ทโฟนของตนเอง แท็บเล็ตเป็นแค่ส่วนเสริมเท่านั้น เพราะว่าชีวิตคนส่วนใหญ่ ต้องมีการเดินทางตลอดเวลานั่นเองครับ
ท้ายที่สุด Bhardwaj ยังเปิดเผยอีกว่า BlackBerry มีแผนที่จะส่ง BBM เข้าไปยังแพลตฟอร์มสมาร์ททีวี และส่งขึ้นมาบน PC อีกด้วยครับ
ที่มา – BGR
งานนี้แท็บเล็ตโทรได้อย่าง Samsung Galaxy Tab 7+/Tab 7.7/Note 8 อาจมีหงายเงิบครับ ฮ่าๆ

AT&T จะบล็อคการใช้งาน Hangouts Video กับลูกค้าในเครือข่าย



hangoutsมีรายงานว่าลูกค้า AT&T บางส่วน ไม่สามารถใช้งานฟีเจอร์ Hangouts Video ใน Google+ Hangouts ผ่านเครือข่าย LTE และ 3G ของ AT&T ได้แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านั้นยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะได้รับข้อความเตือนว่า ไม่สามารถ Hangouts บนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้ และให้หันไปใช้ WiFi แทน
เมื่อสอบถามไปยัง AT&T ก็พบว่า AT&T ทำการบล็อคการใช้งาน Hangouts Video จริง โดยอ้างเหตุผลการบล็อคการใช้ว่าเป็นกรณีเดียวกันกับ BBM Video Chat ของ BlackBerry 10 และ Facetime on Cellular ของ iOS ครับ
ทั้งนี้ The Verge ได้ทดลองการใช้งานกลับเจอเรื่องแปลกประหลาดว่า AT&T บล็อคการใช้งานแค่บน Android ที่ของเดิมเป็น Sideloaded เท่านั้น ส่วน Hangouts บน iOS สามารถใช้งานได้ตามปกติครับ
ที่มา – The Verge

ซัมซุงพับแผน “บอดี้อลูมิเนียม” ของ Galaxy Note III กลับไปใช้พลาสติกแบบ Galaxy S4 แทน



Samsung-Galaxyหลังจากที่มีข่าวลือว่าซัมซุงจะปรับแผนการออกแบบ Galaxy Note III ใหม่ หลังจากที่ HTC One มีเสียงตอบรับดีจนทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนแผนทันควันไปนั้น ล่าสุดดูเหมือนซัมซุงจะพับแผนนี้ไปเรียบร้อยแล้วครับ
ทั้งนี้ SamMobile ระบุว่า ต้นแบบของ Galaxy Note III ที่บอดี้เป็นอลูมิเนียมทั้งเครื่องเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยตัวเครื่องจะใช้บอดี้อลูมิเนียมทั้งตัว จอเป็นพลาสติกบิดงอได้ แต่ไปๆ มาๆ ซัมซุงกลับเป็นฝ่ายที่ทิ้งแผนนี้เสียเอง และเลือกใช้ต้นแบบที่ออกแบบตัวเครื่องโดยใช้พลาสติกเหมือน Galaxy S4 แทนครับ
สุดท้าย SamMobile ไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมซัมซุงถึงเปลี่ยนใจมาใช้บอดี้พลาสติกแบบ Galaxy S4 แทนครับ
ที่มา – BGR

อินเทลเปิดตัว Beacon Mountain ชุดเครื่องมือสำหรับแอนดรอยด์



Intel-Logoความพยายามของอินเทลที่จะดึงนักพัฒนามาพัฒนาบนแอนดรอยด์ให้รองรับ x86 มีมานาน แต่ตอนนี้อินเทลออกเครื่องมือสำหรับการพัฒนาบนแอนดรอยด์เพื่อให้นักพัฒนา สามารถเข้าถึงพลังประมวลผลได้ดีขึ้นไม่ว่าจะพัฒนาสำหรับ ARM หรือ x86 ในชื่อ Beacon Mountain
Beacon Mountain จะรวมเอาชุดซอฟต์แวร์ของอินเทลเช่น
  • Hardware Accelerated Execution Manager: ชุดรันอีมูเลเตอร์บน virtualization ทำให้การรันทำได้เร็วกว่าอีมูเลเตอร์ปกติมาก
  • Integrated Performance Primitives: ไลบรารีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ใช้คำสั่งบนซีพียูใหม่ๆ มาช่วยเร่งความเร็ว
  • Graphics and System Performance Analyzers: ตัววิเคราะห์ประสิทธิภาพโปรแกรม
  • Threaded Building Blocks: ชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับหลายคอร์ของอินเทล
ชุดซอฟต์แวร์เหล่านี้หลายตัวเป็นสินค้าเสียเงินของอินเทลมาก่อนสำหรับการ รันบนพีซี แต่การมาใช้ Beacon Mountain จะใช้งานได้ฟรี โดยตัว Beacon Mountain นั้นจะมาเป็นชุดรวมเอาชุดพัฒนาของแอนดรอยด์มาในตัว
เป้าหมายของอินเทลคงตรงไปตรงมาว่าอยากให้นักพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มนักพัฒนาเกมที่พัฒนาด้วย NDK หันมาพัฒนาเพื่อรองรับ x86 ให้มากขึ้น แทนที่จะพัฒนาสำหรับ ARM แล้วมารันบน x86 ผ่านทางตัวแปลงซึ่งอาจจะมีปัญหาทั้งประสิทธิภาพและความเข้ากันได้ การตอบแทนนักพัฒนาที่มาพัฒนาเพื่อ x86 ก็เป็นการได้เข้าใช้งานเครื่องมือของอินเทล
ที่มา – Intel SoftwareHot Hardware

กูเกิลจับมือ NASA ซื้อ “ควอนตัมคอมพิวเตอร์” มาใช้วิจัยด้าน AI



google-iconกูเกิลประกาศความร่วมมือกับศูนย์วิจัย NASA Ames Research Center เปิดห้องวิจัย Quantum Artificial Intelligence Lab มาวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ด้วยเทคโนโลยี “ควอนตัมคอมพิวเตอร์”
ห้องวิจัยแห่งนี้จะใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์จากบริษัท D-Wave (อ่านรายละเอียดในข่าว Quantum Computer เริ่มวางขายแล้ว) เพื่อศึกษาว่าเทคโนโลยีด้านควอนตัมคอมพิวติงจะช่วยพัฒนาการวิจัยด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) ได้อย่างไร
กูเกิลบอกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันไม่เหมาะสำหรับการแก้ปัญหาด้าน machine learning ที่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์สูงมาก ดังนั้นจึงต้องใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์เข้าช่วย โดยกูเกิลระบุว่าประสบความสำเร็จในการสร้างอัลกอริทึมด้าน quantum machine learning บ้างแล้ว แต่จะผลักดันให้งานวิจัยก้าวหน้าต่อไปผ่านห้องวิจัยแห่งนี้
ที่มา – Google Research

Arduino Yún เพิ่มพลังให้ Arduino ด้วย OpenWRT


โครงการ Arduino ปีนี้มีสินค้าเปิดตัวออกมาค่อนข้างเยอะ โดยช่วงนี้เป็นงาน Bay Area Maker Fair จึงอาศัยเป็นช่วงเวลาเปิดตัวสินค้า ตัวล่าสุดคือ Arduino Yún ที่รวมเอา Arduino เดิมที่ใช้ชิป AVR เข้ากับชิป MIPS ที่รันลินุกซ์ OpenWRT พร้อม Wi-Fi ในตัว ในราคา 69 ดอลลาร์
Arduino Yún จะทำให้การเขียนโปรแกรมลงสู่ Arduino ไม่ต้องอาศัยการต่อสาย USB อีกต่อไป แต่นักพัฒนาสามารถเชื่อมต่อตัว Yún เข้ากับเครือข่าย ตัว Arduino IDE 1.5.x รุ่นใหม่ที่ออกมาพร้อมกันจะสามารถตรวจเจอ Arduino ในเครือข่ายได้เอง และเมื่อใส่รหัสผ่านแล้วก็พร้อมจะส่งโปรแกรมใหม่ลงไปแบบไร้สายได้ทันที
ความพยายามพัฒนา Arduino ให้รองรับการเขียนโปรแกรมผ่าน Wi-Fi ได้มีอยู่หลายกลุ่ม บ้างถูกกว่า Yún และบางตัวแพงกว่า แต่ความได้เปรียบของโครงการ Yún คือมันได้รับซัพพอร์ตจาก Arduino โดยตรงทำให้ IDE ที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง พัฒนาเพื่อรองรับไปด้วยกัน และเมื่อการออกแบบมาจากโครงการ Arduino เองหลังจากพิมพ์เขียวถูกปล่อยออกมาแล้วผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็มักจะผลิตบอร์ดที่เข้ากันได้ในราคาถูกกว่าตามมาในเวลาไม่นาน
ทาง Arduino จะเริ่มรับคำสั่งซื้อสิ้นเดือนหน้า
ที่มา – Campaign-ArchiveArsTechnica

แท็บเล็ตจอ 8 นิ้ว Iconia W3 โผล่บนเว็บเอเซอร์ฟินแลนด์, เข้า FCC แล้ว



acer-new-logoหลังจากมีภาพ ข้อมูล และราคาของแท็บเล็ตเอเซอร์จอ 8 นิ้ว Iconia W3 หลุดออกมา คราวนี้เว็บไซต์เอเซอร์ฟินแลนด์ก็ได้เผยภาพและสเปคของแท็บเล็ตรุ่นดังกล่าวออกมาแล้ว
เว็บเอเซอร์ระบุรหัสรุ่นเป็น W3-810-27602G06nsw สำหรับสเปคนั้นเป็นไปตามข่าวก่อนหน้านี้ ยกเว้นหน่วยความจำภายใน ซึ่งเว็บเอเซอร์เองระบุว่าเป็น eMMC ขนาด 64 กิกะไบต์ (ข่าวเก่าระบุไว้ที่ 32 กิกะไบต์) ซึ่งก็เป็นไปได้ที่สเปคในข่าวก่อนหน้านี้จะเป็นคนละรุ่นกับที่ปรากฏบนหน้า เว็บเอเซอร์ บริษัทยังโฆษณาว่าต่อการชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้งจะสามารถเล่นคลิปวิดีโอที่ 720p ได้สูงสุด 8 ชม. และเครื่องจะมากับ Windows 8 Pro และไมโครซอฟท์ Office แต่ก็ไม่ได้ระบุรุ่นของชุด Office แต่อย่างใด (ข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่าเป็น Office Home and Student 2013) สำหรับสีตัวเครื่องนั้นมีเพียงสีเดียวคือสีเงิน
นอกจากนั้น ยังมีคนไปพบว่า Iconia W3 เข้ารับการตรวจสอบจาก FCC (กทช. สหรัฐ) แล้ว เว็บไซต์ Windows Phone Central ตั้งข้อสังเกตว่า จากภาพในเอกสารของ Iconia W3 นั้นไม่สามารถบอกได้ว่าชุดคีย์บอร์ดที่มีขนาดใหญ่กว่าแท็บเล็ตและสามารถถอด ออกได้นั้นมีแบตเตอรี่หรือไม่ เนื่องจากภาพในเอกสารที่เอเซอร์ส่งให้ FCC นั้นไม่แสดงช่องต่อที่ด้านตามแนวยาวของแท็บเล็ตที่สามารถนำไฟฟ้าได้ และหากไม่มีแบตเตอรี่ก้อนที่สองที่ชุดคีย์บอร์ด ระยะเวลาตั้ง 8 ชม. ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งที่เอเซอร์โฆษณานั้นก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นได้
ที่มา: เอเซอร์ฟินแลนด์ และ FCC ผ่าน Liliputing ผ่าน WPCentral

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Ultrabook คืออะไร ? หรือจะมาแทนโน๊ตบุ๊ค

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันกระแสแท็บเล็ตกำลังมาแรง จนคนเริ่มคิดว่า หรือว่าจะหมดยุคของโน๊คบุคแล้ว แต่ก็มีอีกกระแสที่คิดว่า นี่เป็นแค่การแบ่งแยกเซ็กเมนต์ของตลาดที่ชัดเจนขึ้นมากกว่า
ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่โตขึ้นเรื่อยๆของแท็บเล็ต ในขณะที่โน๊ตบุ๊คและพีซีทรงตัวและมีแนวโน้มที่ลดลง
 
 
อย่างไรก็ตามถ้ามองถึงการใช้งานแล้วแท็บเล็ตเองก็ยังไม่สามารถทดแทนพีซีและโน๊ตบุคได้ทั้งหมด โดยจุดเด่นของแท็บเล็ตเป็นฝั่งผู้บริโภคมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาข่าวสาร และการค้นหาข้อมูล ด้วยจุดแข็งด้านความสะดวกในการพกพา และการเข้าถึงระบบเครือข่าย รวมทั้งความง่ายในการใช้งานแบบทัชสกรีน

ถ้ามองกลับไปก่อนหน้านี้ในช่วงเวลาเดียวกันที่แท็บเล็ตแย่าง iPad ของบริษัท Apple จะเปิดตัว ซึ่งเป็นช่วงเฟื่องฟูถึงจุดสุดยอดของโน๊ตบุ๊คพอดี ผู้ผลิตหลายรายเริ่มมองหาเทคโนโลยีในยุคถัดไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ อัลตราบุ๊ค (Ultrabook) โดยเงื่อนไขของ Ultabook คือ 1.ต้องบางกว่าโน๊คบุ๊ค 2.น้ำหนักเบา 3.ทำงานได้ใกล้เคียงกับโน๊คบุ๊ค ในตอนนั้นยังไม่ชัดเจนในเรื่องของหน้าจอสัมผัส แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดเข็นผลงานออกมาได้เป็นชิ้นเป็นอัน กระทั่ง iPad เข้ามาเปิดตลาดแท็บเล็ตจนกลบกระแสของ Ultabook ไปสิ้น

การเปิดตัวเงียบๆของ Ultrabook ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็มีเสียงตอบรับบ้าง แต่ยังมีน้อยราย Ultrabook ในตอนนี้ได้ข้อสรุปใหม่ โดยเป็นการแปลงโฉมเป็นการผนวกรวมเข้าด้วยกัน ระหว่าง โน๊ตบุ๊ค และ แท็บเล็ต นั่นคือ 1. ต้องบางใกล้เคียงกับแท๊บเล็ต 2. น้ำหนักเบาใกล้เคียงกับแท็บเล็ต 3. ทำงานได้ใกล้เคียงกับโน๊ตบุ๊ค 4.มีคีย์บอร์ด 5.เนื่องจากบางมากระบบ Harddisk อาจจะเป็นแบบไม่ใช้จานหมุน หรือพวก SSD แทน 6.หน้าจอสัมผัสแบบมัลติทัชได้เหมือนแท็บเล็ต

ดูเหมือนว่า Ultrabook เริ่มมีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจนขึ้น และนี่อาจจะเป็นยุคถัดไปของโน๊ตบุ๊กก็เป็นได้ หลายคนอาจจะคิดว่าสุดท้ายแล้วจะหมดความนิยมไปเหมือน netbook หรือเปล่า แต่ถ้ามองกันถึงการนำไปใช้งานแล้ว Ultrabook ยังมีจุดแข็งหลายประการ ในขณะที่เน็ตบุ๊คมีข้อจำกัดมากเกินไป การที่ Ultrabook จะเข้ามาแทรกตัวในช่องว่างที่เหลืออยู่ของผู้ที่ต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์พกพาที่มากกว่า และสามารถใช้งานได้สะดวกแบบเดียวกับแท็บเล็ตและมีปัญหาในการแบกน้ำหนักของโน๊คบุ๊กที่มีน้ำหนักมากกว่าและข้อจำกัดเรื่องแบ๊ตเตอร์รี่  อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกเทคโนโลยีเอง
 
ศิรวุฒิ ตั้งเจริญชัย ผู้เขียนบทความ
Siravut.t@mict.mail.go.th
www.bakerymedia.com

เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์กับการศึกษาไทย

     
ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายๆด้านทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอันนำไปสู่การปรับตัวเพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ทุกประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งสู่กระแสใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า สังคมความรู้ (KnowledgeSociety) และระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการใช้ความรู้และนวัตกรรม (Innovation) เป็นปัจจัยในการพัฒนาและการผลิตมากกว่าการใช้เงินทุนและแรงงาน

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ ซึ่งประกอบกันเป็น “สารสนเทศ” นั้น สามารถลื่นไหลได้สะดวก รวดเร็ว จนสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ระดับบุคคลขึ้นไปถึงระดับองค์กรอุตสาหกรรม ภาคสังคม ตลอดจนในระดับประเทศและระหว่างประเทศ จนกระทั่งภาวะ “ไร้พรหมแดน” อันเนื่องมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว ได้เกิดขึ้นในกิจกรรมและวงการต่างๆ และนับเป็นความกลมกลืนสอดคล้องกันอย่างยิ่ง ที่การพัฒนาบุคลากรในสังคมอันประกอบด้วยภาคการศึกษา และการฝึกอบรมเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้สารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อมูล (Data) ข่าวสาร (Information)ก็ตาม ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถนำประโยชน์มาสู่วงการศึกษา ได้อย่างเหมาะสมหากรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์และคุ้มค่าต่อการลงทุน (ไพรัช ธัชยพงษ์และพิเชษ ดุรงคเวโรจน์ .2541
เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงอย่างหนึ่งที่นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งได้แก่ “คอมพิวเตอร์”(Computer) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการศึกษาได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหาร การบริการ และการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายของ “คอมพิวเตอร์” ไว้ว่า”เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนสมองกล ใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆที่ง่ายและซับซ้อนโดยวิธีทางคณิตศาสตร์”คอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานแทนมนุษย์ในด้านการคำนวณและสามารถจำข้อมูลทั้งตัวเลขและตัวอักษรได้ เพื่อการเรียกใช้งานครั้งต่อไป รวมทั้งสามารถจัดการกับสัญลักษณ์ (Symbol) ได้ด้วยความเร็วสูงโดยปฏิบัติตามขั้นตอนของโปรแกรม นอกจากนี้ยังมีความสามารถในด้านต่างๆ เช่น การรับส่งข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลไว้ในตัวเครื่องและสามารถประมวลผลจากข้อมูลต่างๆ ได้ (ตวงแสง ณ นคร .2542)

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
คอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในวงการศึกษา หรืออาจเรียกว่า คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา (Computer-Based Education, Instructional Computer : IC, Computer-Based Instruction : CBI) มีความหมายเหมือนกันคือ การนำคอมพิวเตอร์ มาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา ไม่ว่าจะ เป็นการจัดการเรียนการสอน การลงทะเบียน การจัดทำบัตรนักศึกษา การจัดทำผลการเรียนการสอนรวมไป จนถึงการออกใบรับรองการจบหลักสูตร
Robert Taylor นักเทคโนโลยีการศึกษา ได้แบ่งการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ไว้ในหนังสือ the Computer in the School : Tutor, Tutee โดยได้แบ่งการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในโรงเรียนออกเป็น 3 ลักษณะคือ การใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะของติวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะของอุปกรณ์ การเรียนการสอนและการใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะของผู้เรียน (ดิเรก ธีระภูธร .2545)
แต่กระบวนการในการจัดการศึกษาในภาพรวม ไม่ได้หมายถึงสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีหน่วยงานทางการศึกษาและองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วย ฉะนั้นบทบาทของคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการศึกษา จึงแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. คอมพิวเตอร์เพื่อการบริหาร (computer Applications into Administration)
การบริหารการศึกษานับเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบาย อันนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการจัดการศึกษา ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น สิ่งสำคัญในการที่จะช่วยให้บริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็คือความพร้อมของข้อมูลในการบริหารจัดการเพื่อการตัดสินใจและกำหนดนโยบายการศึกษา คอมพิวเตอร์จึงเข้ามามีบทบาทในการบริหารการศึกษามากขึ้น ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สรุปได้ดังนี้
1.1 การบริหารงานทั่วไป เป็นการนำคอมพิวเตอร์ช่วยในการบริหารงานบุคคล งานธุรการ การเงินและบัญชีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูล (Management Information System :MIS) เพื่อประโยชน์ในการวางแผนและบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
1.2 งานบริหารการเรียนการสอน เป็นการนำคอมพิวเตอร์ช่วยในการบริหารของครูผู้สอนนอกเหนือจากงานด้านการสอนปกติ เช่น งานทะเบียน งานด้านเอกสาร การจัดตารางสอน ตารางสอบ การตรวจและการเก็บรวบรวมคะแนน การสร้าง-วิเคราะห์ข้อสอบ การวัดและประเมินผลการเรียน เป็นต้น
2. คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดการเรียนการสอน (Computer -Managed Instruction)
การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนไม่ต้องเสียเวลากับการงานบริหาร ครูผู้สอนจะได้มีเวลาไปปรับปรุงบทเรียนให้ทันสมัยและมีเวลาให้กับนักเรียนมากขึ้น เช่น การจัดเลือกข้อสอบ การตรวจและให้คะแนนและวิเคราะห์ข้อสอบ การเก็บประวัตินักเรียนเฉพาะวิชาที่สอนเพื่อดูพัฒนาการด้านการเรียนและการให้คำปรึกษา และช่วยในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการเรียนการสอนของวิชาที่สอน รวมถึงการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนจะทำให้ครูผู้สอนสามารถวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับวัตถุประสงค์และความต้องการของผู้เรียน
3. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer -Assisted Instruction : CAI)
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นกระบวนการเรียนการสอน โดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์ ในการนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ มีลักษณะเป็นการเรียนโดยตรง และเป็นการเรียน แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) คือสามารถ โต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ได้ เช่นเดียวกับการสอนระหว่างครูกับนักเรียนที่อยู่ในห้องตามปกติ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีหลายประเภทตามวัตถุประสงค์ที่จะให้นักเรียนได้เรียน กล่าวคือ ประเภทติวเตอร์ ประเภทแบบฝึกหัด ประเภทการจำลอง ประเภทเกม ประเภทแบบทดสอบซึ่งในแต่ละประเภทก็มีจุดมุ่งหมายในการให้ความรู้แก่ผู้เรียนแต่วิธีการที่แตกต่างกันไป ข้อดีของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนคือช่วยลดความแตกต่างระหว่างผู้เรียน เช่นผู้ที่มีผลการเรียนต่ำ ก็สามารถชดเชยโดยการเรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้ และสำหรับผู้มีผลการเรียนสูงก็สามารถเรียนเสริมบทเรียนหรือเรียนล่วงหน้าก่อนที่ผู้สอนจะทำการสอนก็ได้


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สรุป
แนวโน้มในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการศึกษาในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นรูปแบบของการเรียนการสอน โดยนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีลักษณะเฉพาะ คือ มีความสามารถในการนำเสนอข้อมูลผ่านระบบ World Wide Web ในการใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction : WBI) หรือ E-learning ซึ่งวงการศึกษาคงจะหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง
เอกสารและแหล่งข้อมูลประกอบการค้นคว้า
กิดานันท์ มลิทอง. เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ อรุณการพิมพ์ .2543
ไพรัช ธัชยพงษ์และพิเชษ ดุรงคเวโรจน์. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา.
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ .2541
ตวงแสง ณ นคร. การใช้สื่อการสอน. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.กรุงเทพฯ .2542
ดิเรก ธีระภูธร. การใช้คอมพิวเตอร์ในวงการศึกษา. [On-Line]